วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กฎหมายที่ประชาชนควรรู้


1. กฎหมาย คืออะไร?
กฎหมายคืออะไร 
                คำจำกัดความของ กฎหมาย หมายถึงคำสั่งหรือข้อบังคับความประพฤติของมนุษย์  ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุด หรือรัฏฐาธิปัตย์เป็นผู้บัญญัติขึ้นผู้ใดฝ่าฝืน มีสภาพบังคับ
ลักษณะของกฎหมาย
                เมื่อได้ทราบความหมายของกฎหมายแล้ว  กฎหมายต้องมีลักษณะ  ๕ ประการดังนี้
1. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ
                    หมายความว่า  กฎหมายนั้นต้องอยู่ในรูปของคำสั่ง  คำบัญชา  อันเป็นการแสดงออกซึ่งความประสงค์ของผู้มีอำนาจในลักษณะเป็นการบังคับ  เพื่อให้บุคคลอีกคนหนึ่งปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติ  มิใช่เป็นการประกาศชวนเชิญเฉย ๆ  เช่น  ในสมัย  จอมพล ป. พิบูลสงคราม  เป็นนายกรัฐมนตรี  รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนคนไทยให้สวมหมวก  เลิกกินหมากและให้นุ่งผ้าซิ่นแทนผ้าโจงกระเบน  ประกาศนี้แจ้งให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลนิยมให้ประชาชนปฏิบัติอย่างไร  มิได้บังคับจึงไม่เป็นกฎหมาย
                2. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฏฐาธิปัตย์ 
                   รัฎฐาธิปัตย์คือ  ผู้ที่ประชาชนส่วนมากยอมรับนับถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน  โดยที่ไม่ต้องฟังอำนาจจากผู้ใดอีก  ดังนี้รัฎฐาธิปัตย์จึงไม่ต้องพิจารณาถึงที่มาหรือลักษณะการได้อำนาจว่าจะได้อย่างไร  แม้จะเป็นการปฏิวัติหรือรัฐประหารก็ตามถ้าหากคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์ที่สามารถออกคำสั่ง  คำบัญชาในฐานะเป็นกฎหมายของประเทศได้
                3. กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป
                    หมายความว่า  กฎหมายต้องเป็นเรื่องที่เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีผลบังคับเป็นการทั่วไป  ไม่ใช่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่ง  หรือให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดปฏิบัติตามเท่านั้น  ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีอายุ  เพศ  หรือฐานะอย่างไรก็ตกอยู่ภายใต้ของการใช้บังคับกฎของกฎหมายอันเดียวกัน  (โดยไม่เลือกปฏิบัติ)  เพราะบุคคลทุกคนมีความเสมอภาคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน  แม้กฎหมายบางอย่างอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่บุคคล  หรือวางความรับผิดชอบให้แก่คนบางหมู่เหล่า  แต่ก็ยังอยู่ในความหมายที่ว่าใช้บังคับทั่วไปอยู่เหมือนกัน  เพราะคนทั่ว ๆ  ไปที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกฎหมายนั้นก็ยังต้องปฏิบัติตามอยู่เสมอ
                    สาระสำคัญอีกประการหนึ่งคือ  กฎหมายเมื่อประกาศมีผลบังคับใช้แล้วก็ใช้ได้ตลอกไป (CONTINUITY) จนกว่าจะถูกแก้ไขเพิ่มเติมหรือถูกยกเลิก  หากไม่มีการยกเลิกก็มีผลบังคับใช้ได้เสมอ  ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า กฎหมายนอนหลับบางคราวแต่ไม่เคยตาย (THELAW  SOMETIMESSLEEP, NEVER DIE)
                4. กฎหมายบัญญัติขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตาม
                    แม้การปฏิบัติบางครั้งอาจจะเกิดจากความไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติ  แต่หากเป็นคำสั่ง  คำบัญชาแล้ว  ผู้รับคำสั่ง  คำบัญชา  ต้องปฏิบัติตาม  หากขัดขืนไม่ปฏิบัติตามก็จะเกิดสภาพบังคับของกฎหมาย  อันเป็นผลร้ายต่อผู้ฝ่าฝืนคำสั่งนั้น  และเป็นที่พึงเข้าใจด้วยว่าผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะรับคำสั่งและปฏิบัติตามกฎหมายได้นั้นต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย
                   อย่างไรก็ดีแม้กฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่สัตว์  แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมมิให้สัตว์ก่อความเสียหายหรือความเดือดร้อนรำคาญแก่มนุษย์  ดังนี้กฎหมายจึงกำหนดความรับผิดไว้กับบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงของตนตามสมควร  จึงมิใช่เป็นการออกคำสั่ง  คำบัญชาแก่สัตว์  แต่เป็นการควบคุมโดยผ่านทางผู้เป็นเจ้าของเท่านั้น  ตัวอย่างเช่น  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 433  บัญญัติว่า  ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ  จำต้องใช้คำเสียหายทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหาย
                5. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ
                    เพื่อให้กฎหมายเกิดความศักดิ์สิทธิ์  และประชาชนเคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามกฎหมายจึงต้องมีสภาพบังคับ (SANCTION) สภาพบังคับของกฎหมายนั้นแบ่งเป็นสภาพบังคับในทางอาญาและทางแพ่ง
                    สภาพบังคับให้ทางอาญาโดยทั่วไปแล้ว  คล้ายคลึงกัน  คือ หากเป็นโทษสูงสุดจะใช้วิธีประหารชีวิต  ซึ่งปางประเทศให้วิธีการนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า  แขวนคอ  แต่ประเทศไทยในปัจจุบันให้นำไปฉีดยาให้ตายใช้วิธีประหารด้วยวิธีอื่นไม่ได้  นอกจากนั้นก็เป็นการจำคุก  เป็นการเอาตัวนักโทษควบคุมในเรือนจำ  ซึ่งต่างกับกักขังเป็นการเอาตัวไปกักไว้ที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ  เช่นที่อยู่ของผู้นั้นเอง หรือสถานที่อื่นที่ผู้ต้องกักขังมีสิทธิดีกว่าผู้ต้องจำคุก  สำหรับกฎหมายไทยโทษกักขังจะใช้เฉพาะผู้ซึ่งกระทำผิดครั้งแรก  และความผิดนั้นมีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน  ศาลจึงจะลงโทษกักขังแทนจำคุกได้ ส่วนการปรับคือ  ให้ชำระเงินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล
                    การริบทรัพย์สิน  คือ  การริบเอาทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดิน  เช่น  ปืนที่เตรียมไว้ยิงคน  หรือเงินที่ไปปล้นเขามา  นอกจากการริบแล้วอาจสั่งทำลายทรัพย์สินนั้นเสียก็ได้
                    สภาพบังคับในทางแพ่งก็ได้แก่  การกำหนดให้การกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายตกเป็นโมฆะ  ตัวอย่างเช่น  การซื้อขายที่ดินโดยมิได้ทำเป็นหนังสือ  และจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตกเป็นโมฆะ  การทำนิติกรรมซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ดี  เป็นการพ้นวิสัยก็ดี  เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี  ตกเป็นโมฆะ   การให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งจากการไม่ชำระหนี้  การให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกละเมิดเป็นต้น
2. ลักษณะสำคัญของกฎหมาย มีอะไรบ้าง?
1. กฎหมายมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์ กล่าวคือ ต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐาน ใช้วัดและกำหนดความประพฤติของสมาชิกในสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือไม่ได้เป็นต้น เช่น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ประชาชนสวมใส่ชุดดำเนื่องในการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ไม่เป็นกฎหมาย เพราะไม่ใช่ข้อกำหนดที่บ่งบอกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ไม่อาจวัดเป็นมาตรฐานได้ว่าการแต่งชุดดำเช่นนั้นแล้วเป็นการถูกกฎหมาย การไม่แต่งผิดกฎหมาย และที่สำคัญ ประกาศนั้นเป็นแต่การเชิญชวน มิได้เป็นการบังคับ เป็นต้น
          2. กฎหมายกำหนดความประพฤติของบุคคล กล่าวคือ กฎหมายควบคุมแต่ความประพฤติของบุคคลเท่านั้น มิได้ก้าวล่วงเข้าไปถึงจิตใจ จึงอาจกล่าวได้ว่าศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีควบคุมมนุษย์ได้ลึกซึ้งยิ่งกว่ากฎหมาย และกฎหมายนั้นหยาบกว่าสิ่งเช่นว่า ทั้งนี้ ความประพฤติที่จะถูกควบคุมมีองค์ประกอบ ได้แก่ 1) มีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย และ 2) การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวเช่นนั้นอยู่ภายในความควบคุมของจิตใจ กล่าวอีกชั้นคือ บุคคลรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่
          3. กฎหมายมีสภาพบังคับ สภาพบังคับ (: sanction) ของกฎหมายนั้นมีทั้งที่เป็นผลร้าย เช่น โทษทางอาญา และผลดี เช่น การลดภาษีเงินได้
          สำหรับสภาพบังคับที่เป็นผลดีนั้น ในความจริงแล้วมนุษย์มิใช่จะปฏิบัติตามกฎหมายเพราะเกรงจะได้รับผลร้ายเท่านั้น แต่อาจเพราะมีแรงจูงใจด้วย เช่น บทบัญญัติในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ว่า "ผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการ..." เป็นต้น
          4. กฎหมายมีกระบวนการอันเป็นกิจจะลักษณะ ในอดีต สำหรับการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายบางทีก็ใช้ระบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่สังคมสมัยใหม่ซึ่งมีการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ กล่าวคือ รัฐออกกฎหมายและรัฐเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐสมัยใหม่จะไม่ยอมให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยประชาชนเลย เพราะจะทำให้คนที่แข็งแรงกว่ากระทำเกินเลยต่อคนที่อ่อนแอกว่าได้ กับทั้งจะเกิดความวุ่นวายประการอื่น ๆ
          กระบวนการบังคับใช้กฎหมายเช่นนี้ รัฐกระทำผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ฯลฯ
          อย่างไรก็ดี มีการเว้นให้ประชาชนบังคับใช้กฎหมายได้เองเป็นกรณีพิเศษ คือ 1) กรณีเพื่อการป้องกันตามกฎหมายอาญา เช่น การป้องกันตนเองจากภัยที่ใกล้จะถึง และการป้องกันนั้นไม่เกินกว่าเหตุ เป็นต้น และ 2) กรณีที่ได้รับนิรโทษกรรมตามกฎหมายแพ่ง เช่น กรณีเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง หากไปแจ้งทางราชการจะไม่ทันท่วงที กรณีเช่นนี้บุคคลไม่ต้องใช้สินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นต้น
3. กฎหมายมีความสำคัญหรือมีประโยชน์อย่างไร?
ในสังคมของมนุษย์นั้นมีสมาชิกจำนวนมากที่มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านความคิดเห็นและพฤติกรรมต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือกติการ่วมกัน เพื่อเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ และช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย กฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้

      1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ  เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม

      2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

      3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม

      4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น

      ดังนั้น การที่ประเทศใดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปในแนวทางใดก็ตามถ้าได้มีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักการให้ทุกคนปฏิบัติตาม ก็ย่อมทำให้การพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนประสบผลสำเร็จได้สูงกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมตามปกติ
4. การแบ่งประเภทของกฎหมาย มีการแบ่งตามหลักเกณฑ์ใดบ้าง?
กฎหมายในทางตำรากฎหมายมีความหมาย 2 นัย คือ
1 กฎหมายตามเนื้อความ หมายถึง ข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ ตามความหนักเบาของการกระทำ
2. กฎหมายตามแบบพิธี หมายถึง กฎหมายที่ตราขึ้นมาโดดยวิธีบัญญัติกฎหมายของรัฐ จะไม่มีการกำหนดความประพฤติของมนุษย์หรือประชาชนทั่วไปโดยตรง แต่ถือเป็นกฎหมายอย่างหนึ่งที่วางหลักเกณฑ์ในการบริหารงานของรัฐ
ปัจจุบันรัฐยุคใหม่มีการออกกฎหมายขึ้นมาเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งในทางกำหนดความประพฤติของสมาชิกในสังคม และเพื่อจัดองค์กรต่างๆของรัฐ และในกฎหมายฉบับเดียวกันยังเป็นทั้งกฎหมายตามเนื้อความและกฎหมายตามแบบพิธีอีกด้วย
ดังนั้นหากกล่าวโดยรวมแล้ว กฎหมายคือ กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อให้บุคคลปฏิบัติโดยมีวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เพื่อความสงบเรียบร้อย หรือพัฒนาสังคม เป็นต้น ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษ
กฎหมายแบ่งแยกได้หลายประเภทตามเกณฑ์ต่างๆเพื่อประโยชน์ในการใช้
1. แบ่งโดยแหล่งกำเนิดของกฎหมาย แยกได้เป็น กฎหมายภายใน และกฎหมายภายนอก
- กฎหมายภายใน เป็นกฎหมายที่องค์กรของรัฐที่มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย บัญญัติขึ้นใช้ภายในประเทศ ได้แก่ กฎหมายไทยฉบับต่างๆที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามอยู่ในปัจจุบัน
- กฎหมายภายนอก เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ หรือ เกิดจากความตกลงระหว่างประเทศที่เห็นพ้องต้องกัน เช่น สนธิสัญญา หรืออนุสัญญา เป็นต้น หรือความตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรี เป็นต้น
2. แบ่งโดยฐานะและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน แยกได้เป็น กฎหมายเ้อกชน และกฎหมายมหาชน
- กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน หรือประชาชนทั่วไปด้วยกัน เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติเกี่ยวกับการทำนิติกรรมสัญญาของบุคคล เป็นต้น
- กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรัฐ อำนาจหน้าที่ หรือภารกิจของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนความสัมพันธ์ของรัฐและประชาชน
3. แบ่งโดยเจตนารมณ์และเนื้อหาของกฎหมาย แยกได้เป็น หลายประเภท เช่น กฎหมายระเบียบบริหารราชการ กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายธุรกิจ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายสวัสดิการสังคม กฎหมายแรงงาน กฎหมายอุตสาหกรรม กฎหมายส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
4. แบ่งโดยลักษณะการใช้กฎหมาย แยกได้เป็น กฎหมายสารบัญญัติ และกฎหมายวิธีสบัญญัติ
- กฎหมายสารบัญญัติ เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหรือหน้าที่ให้บุคคลปฏิบัติ เช่น กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดหน้าที่ของนายจ้างในการจัดให้มีระบบความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น
- กฎหมายวิธีสบัญญัติ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีของศาล และขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีขึ้น เช่น กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นต้น
5. การแบ่งโดยสภาพบังคับของกฎหมาย แยกได้เป็น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายปกครอง และกฎหมายอื่น กฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายโรงงาน มีสภาพบังคับทั้งทางอาญาและทางปกครอง เป็นต้น
5. ให้นักเรียนเขียน ศักดิ์ หรือลำดับชั้นของกฎหมาย เรียงจากสูงไปหาต่ำ?
กฎหมายลายลักษณ์อักษรมีอยู่หลายรูปแบบ แต่กฎหมายแต่ละรูปแบบนั้นหาได้มีค่าบังคับเท่ากันไม่ ตรงกันข้ามกลับมีค่าบังคับที่สูงต่ำที่แตกต่างกัน ที่ว่าลำดับชั้นของกฎหมาย (ตำราบางเล่มก็บอกว่า ลำดับศักดิ์) จึงหมายถึง ลำดับแห่งค่าบังคับของกฎหมาย กล่าวคือ
กฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่ต่ำกว่าจะไปขัดแย้งกับกฎหมายที่อยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่าไม่ได้

                                                                                                                                                             
          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนรับรองและส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ มิเช่นนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เลย มักมีผู้เรียก "รัฐธรรมนูญ" ว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" พึงทราบว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" (Constitutional Law) นั้นเป็นคำเรียกสาขาวิชาทางนิติศาสตร์และเรียกกฎหมายมหาชนแขนงหนึ่งซึ่งว่าด้วยการวางระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง ส่วน "รัฐธรรมนูญ" (Constitution) นั้นคือกฎหมายจริง ๆ ฉบับหนึ่งซึ่งจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง

กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายชนิดนี้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติในประเทศไทย และมีศักดิ์เดียวกันกับพระราชบัญญัติ แต่มีวิธีการตราที่พิสดารกว่าพระราชบัญญัติเนื่องเพราะเป็นกฎหมายที่อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ

พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกฎหมายที่ถือได้ว่าคลอดออกมาจากท้องของรัฐธรรมนูญโดยตรง องค์กรที่มีหน้าที่ตรากฎหมายสองประเภทนี้ได้แก่รัฐสภา

พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการตราให้แก่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ใช้ในกรณีรีบด่วนหรือฉุกเฉิน พระราชกำหนดนั้นเมื่อมีการประการใช้แล้วคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้ามิได้รับความเห็นชอบก็เป็นอันสุดสุดลง แต่ผลของการสิ้นสุดลงนี้ไม่กระทบกระเทือนบรรดาการที่ได้กระทำลงระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น


พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด เปรียบเสมือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่อธิบายขยายความในรัฐธรรมนูญ


กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา มีลักษณะคล้ายพระราชกฤษฎีกาเพราะศักดิ์ของผู้ตราต่างกัน
"เมื่อพระราชกฤษฎีกากับกฎกระทรวงมีความใกล้เคียงกันมาก ข้อที่พิจารณาให้เห็นถึงความแตกต่างกันว่าควรจะออกกฎหมายในรูปพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เนื้อหาของกฎหมายที่ต้องการบัญญัตินั้นมีความสำคัญเพียงใด ซึ่งหากมีความสำคัญเป็นอย่างมากจะออกมาในรูปของพระราชกฤษฎีกา แต่ถ้ามีความสำคัญน้อยกว่าก็ออกในรูปของกฎกระทรวง"

ข้อบัญญัติท้องถิ่น เป็นกฎหมายที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นตราขึ้นและใช้บังคับภายในเขตอำนาจของตน ได้แก่ ข้อบังคับตำบล เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และข้อบัญญัติเมืองพัทยา เนื่องจากอำนาจในการตรากฎหมายประเภทนี้ได้รับมาจากพระราชบัญญัติ โดยทั่วไปจึงถือว่ากฎองค์การบัญญัติมีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติ ใช้บังคับภายในเขตใดเขตหนึ่งเป็นการทั่วไปเท่านั้น

ผลการจัดศักดิ์ของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร
    1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์สูง 
        กว่าหรือตามที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้อำนาจไว้
    2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายศักดิ์สูงกว่า จะออกมาโดยมีเนื้อหา 
        เกินกว่าขอบเขตอำนาจที่กฎหมายศักดิ์สูงกว่าให้ไว้มิได้ มิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้เลย
    3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีความขัดแย้งกัน ต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าบังคับ ไม่ว่ากฎหมายศักดิ์
        สูงกว่านั้นจะออกก่อนหรือหลังกฎหมายศักดิ์ต่ำกว่านั้น
6. ที่มาของกฎหมายในระบบ Civil Law มีอะไรบ้าง?
ซีวิลลอว์ คือ กฎหมายในระบบ "ประมวลกฎหมาย" ผู้เขียนไม่อยากให้เรียกว่า กฎหมายลายลักษณ์อักษร เพราะไม่ว่าจะเป็นกฎหมายในระบบใดก็ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น จึงควรใช้คำให้ถูกต้องว่า "ระบบประมวลกฎหมาย"
ประเทศที่ใช้กฎหมายในระบบประมวลกฎหมายมีหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมัน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน ประเทศฝรั่งเศษ อิตาลี และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นต้น



7. ที่มาของกฎหมายในระบบ Common Law มีอะไรบ้าง?
คอมมอนลอว์ คือ กฎหมายในระบบ "จารีตประเพณี" ที่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเช่นกัน มิใช่ใช้กันตามความรู้สึกแต่อย่างใด แต่เป็นการนำเอาคำพิพากษาในคดีที่ศาลตัดสินแล้วมาเป็นกฎหมาย ประเทศที่ใช้กฎหมายในระบบนี้ เช่น ประเทศอังกฤษ และประเทศอเมริกา เป็นต้น
8. ระบบกฎหมายในปัจจุบันมีกี่ระบบ ระบบใดบ้าง?
ระบบกฎหมาย
กฎหมายที่ใช้กันในโลกแบ่งออกได้เป็นสองระบบใหญ่ คือ ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law system) และระบบประมวลกฎหมาย (civil law system) ซึ่งทั้งสองระบบนี้ ต่างก็มีกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่คนโดยทั่วไปมักจดจำว่าระบบกฎหมาย common law ไม่ใช่กฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ดีการแบ่งระบบกฎหมายโดยทั่วไปที่ได้รับการยอมรับกันในเชิงกฎหมายเปรียบเทียบแบ่งออกเป็น 4 ระบบ ดังนี้
  • ระบบกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law System)
เป็นระบบที่ใช้กันในเครือจักรภพอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา โดยจะใช้คำพิพากษาที่ศาลเคยวางหลักไว้แล้วเป็นหลักในการพิจารณา ระบบนี้มีกฎหมายที่บัญญัติโดยรัฐสภาเช่นเดียวกับประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมาย แต่ระบบกฎหมายทั่วไปนี้ จะให้อำนาจผู้พิพากษาในการตีความกฎหมายอย่างมาก จึงลดทอนความสำคัญของกฎหมายของรัฐสภาลง และจะตีความในลักษณะจำกัดเท่าที่ลายลักษณ์อักษรไว้บัญญัติเท่านั้น ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบนี้ในปัจจุบันนั้น ได้แก่ เครือจักรภพอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินเดีย เป็นต้น
  • ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law System)
เป็นระบบที่ใช้กันในภาคพื้นทวีปยุโรป โดยมีหลักกฎหมายซึ่งสืบทอดมาจากหลักกฎหมายโรมัน ในการเรียนการสอนกฎหมายของบางประเทศ เช่น เยอรมัน จะต้องเรียนรู้ภาษาลาตินก่อนจึงจะสามารถเรียนกฎหมายได้ ประมวลกฎหมายสำคัญซึ่งเป็นที่ยอมรับกันและเป็นตัวอย่างให้กับนานาประเทศ ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ระบบกฎหมายนี้ ผู้พิพากษาสามารถตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรในลักษณะขยายความได้ โดยมีหลักว่า ผู้พิพากษาจะต้องค้นหากฎหมายที่จะนำมาตัดสินคดีความจากกฎหมายลายลักษณ์อักษรก่อน หากไม่ได้จึงจะใช้หลักกฎหมายทั่วไป และกฎหมายจารีตประเพณี ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบนี้ในปัจจุบันนั้น ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น ประเทศสแกนดิเนเวีย รวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น
  • ระบบกฎหมายศาสนา (Religious Law System)
หมายถึงระบบกฎหมายที่พึ่งพิงกับระบบทางศาสนาหรือใช้คัมภีร์ทางศาสนาเป็นกฎหมาย ซึ่งมักจะมีวิธีการใช้กฎหมายที่แตกต่างกันออกไป อาทิ การใช้ฮาลัคกาห์ของยิวในกฎหมายมหาชน ถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้ lขณะที่การใช้กฎหมายอิสลามขี่นอยู่กับบรรทัดฐานการใช้กฎหมายที่มีมาก่อนและการตีความด้วยการเทียบเคียงเป็นต้น ตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบนี้ในปัจจุบันนั้น ได้แก่ อัฟกานิสถาน ลิเบีย อิหร่าน เป็นต้น
  • ระบบกฎหมายผสมผสาน (Pluralistic Systems)
หมายถึงระบบที่ใช้การผสมผสานจากสามระบบข้างต้น ซึ่งมักเกิดจากอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างระบบกฎหมายขึ้น เช่น มาเลเชียใช้ระบบกฎหมายทั่วไปเป็นหลักผสมผสานกับระบบกฎหมายศาสนา อิยิปต์ใช้ระบบกฎหมายศาสนาเป็นหลักผสมผสานกับระบบประมวลกฎหมาย เป็นต้น
 9. ประเทศไทย เป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายใด?

ระบบกฎหมายซีวิลลอว์

ซีวิลลอว์เป็นระบบกฎหมายที่แพร่หลายที่สุดในโลกปัจจุบัน บางครั้งรู้จักกันในชื่อระบบกฎหมายภาคพื้นยุโรป บ่อเกิดสำคัญหลักของกฎหมายคือประมวลกฎหมาย และกฎบัญญัติที่ออกตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ลักษณะสำคัญของซีวิลลอว์คือการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
จุดเริ่มต้นของแนวคิดการจัดทำประมวลกฎหมายสามารถย้อนหลังไปได้ถึงประมวลกฎหมายฮัมมูราบีในบาบิโลนประมาณ 1790 ปีก่อนคริสตกาล ระบบซีวิลลอว์เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้นในสมัยจักรวรรดิโรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประมวลกฎหมายจัสติเนียน (Corpus Juris Civilis) ในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียนที่ 1 ประมาณคริสต์ศักราชที่ 529 และมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในช่วงจักรวรรดิไบแซนไทน์ และรวบรวมเป็นเอกสารประมวลกฎหมาย ระบบกฎหมายซีวิลลอว์เองได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายศาสนจักรและกฎหมายชะรีอะฮ์[1]อีกด้วย
10. องค์ประกอบสำคัญของ "รัฐ" มีอะไรบ้าง?
องค์ประกอบสำคัญของรัฐ มี 4 ประการ คือ 


1. ประชากร รัฐทุกรัฐจะต้องมีประชากรจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายและมีประโยชน์ร่วมกัน จำนวนประชากรของแต่ละรัฐอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือ จะต้องมีประชากรดำรงชีพอยู่ภายในขอบเขตของรัฐนั้น

2. ดินแดน รัฐต้องมีดินแดนอันแน่นอนของรัฐนั้น กล่าวคือ มีเส้นเขตแดนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั้งโดยข้อเท็จจริงและโดยสนธิสัญญา ทั้งนี้รวมถึงพื้นดิน พื้นน้ำและพื้นอากาศ

3. อำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจรัฐ หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ทำให้รัฐสามารถดำเนินการทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองภายในและภายนอก

4. รัฐบาล รัฐบาลคือ องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินงานของรัฐในการปกครองประเทศ รัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่สาธารณะสนองเจตนารมย์ของสาธารณชนในรัฐ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและป้องกันการรุกรานจากรัฐอื่น รัฐบาลเป็นองค์กรทางการเมืองที่ขาดไม่ได้ของรัฐ

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2012
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2012 มีกำหนดจัดการเลือกตั้งในวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน 2012 ตามเวลาในท้องถิ่น ซึ่งเป็นตามกฎการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกๆ 4 ปีจะจัดการเลือกตั้ง 1 ครั้ง โดยครั้งนี้นับเป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งที่ 57
สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ 57 นี้ บารัค โอบาม่า จาก พรรคเดโมแครก ได้ลงสมัครชิงเก้าอี้ตำแหน่งเดิมเป็นสมัยที่ 2 โดยมีคู่แข่งคนสำคัญคือ มิตต์ รอมมีย์ จาก พรรครีพลับลีกัน นอกจากผู้สมัครรายใหญ่ทั้ง 2 คนแล้ว ยังมีผู้สมัครคนอื่นๆ ได้แก่ แกรี่ จอห์นสัน จาก พรรคลิเบอร์ทาเรียน , จิล สตีนน์ จาก พรรคกรีน , เวอร์กิล กู๊ดด์ จาก พรรคคอนซิททูชั่น และ ร็อกกี้ แอนเดอร์สัน จาก พรรคจัสติส
ส่วนการนับผลการเลือกตั้ง ประชาชนจะทราบผลงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 ธันวาคม 2012 ซึ่งจะแบ่งผลออกเป็น 2 แบบ คือ ป๊อปปูล่าร์ โหวต และ อีเล็กทรอรอล โหวต เนื่องจากการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรง แต่ประชาชนจะเลือกผู้แทนของพวกเขา เข้าไปเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง การเลือกตั้งจากประชาชนจึงเหมือนเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม ซึ่งผลสุดท้ายต้องได้ อีเล็กทรอรอล โหวต มากกว่า 270 โหวต หรือเท่ากับ
ขณะที่กติกาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ยังได้กำหนดไว้ว่า ผู้ชนะได้ไปทั้งหมด หมายความว่า ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนในมลรัฐนั้นๆ ก็จะได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด ดังนั้นหากมลรัฐใดมีจำนวนผู้เลือกตั้งมาก ก็ย่อมเป็นเป้าหมายสำคัญของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย (55 ที่) รัฐเท็กซัส (34 ที่) รัฐนิวยอร์ก (31 ที่) หรือ รัฐฟลอริด้า (27 ที่) เป็นต้น
ภายหลังจากการทราบผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ พิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ ก็จะมีขึ้นในวันที่ 20 มกราคมของปีถัดไป โดยประธานาธิบดีคนเดิมจะดำรงตำแหน่งอยู่จนเวลาเที่ยงวันของวันนั้น

วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2555

asean_564
asean flags2
"One  Vision, One Identity, One Community"หนึ่งวิสัยทัศน์  หนึ่งอัตลักษณ์  หนึ่งประชาคม 

800px-flag_of_asean_svg


asean_2510
กำเนิดอาเซียน
       อาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ซึ่งได้มีการลงนามที่วังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศ ประกอบด้วยนายอาดัม มาลิก (รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย) ตุน อับดุล ราชัก บิน ฮุสเซน (รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาเลเซีย) นายนาซิโซ รามอส (รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์) นายเอส ราชารัตนัม (รัฐมนตรีต่างประเทศสิงค์โปร์) และพันเอก (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ (รัฐมนตรีต่างประเทศไทย)
      ในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่างๆ เข้าเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม (เป็นสมาชิกเมื่อ 8 ม.ค.2527) เวียดนาม (วันที่ 28 ก.ค. 2538) สปป.ลาว พม่า (วันที่ 23 ก.ค. 2540) และ กัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกล่าสุด (วันที่ 30 เม.ย. 2542) ให้ปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ
      วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาเซียน คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างประเทศในภูมิภาค ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพเสถียรภาพ และความมั่นคงทางการเมือง สร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมการกินดีอยู่ดีของประชาชนบนพื้นฐานของความเสมอภาคและผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก
สัญลักษณ์ของอาเซียน คือ รูปรวงข้าว สีเหลืองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลม สีขาวและสีน้ำเงิน
รวงข้าว 10 ต้น หมายถึง ประเทศสมาชิก 10 ประเทศ
สีเหลือง  หมายถึง  ความเจริญรุ่งเรือง 
สีแดง  หมายถึง  ความกล้าหาญและการมีพลวัติ
สีขาว  หมายถึง  ความบริสุทธิ์ 
สีน้ำเงิน  หมายถึง  สันติภาพและความมั่นคง
กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter)
         ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2550 ที่ประเทศสิงค์โปร์ ผู้นำอาเซียนได้ลงนามในกฎบัตร  อาเซียนซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญของอาเซียนที่จะวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียน ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้ โดยวัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน คือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ กฎบัตรจะให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Organization)
กฎบัตรอาเซียน ประกอบด้วยข้อบทต่าง ๆ 13 บท 55 ข้อ มีประเด็นใหม่ที่แสดงความก้าวหน้าของอาเซียน ได้แก่
     (1) การจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนของอาเซียน     (2) การให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนสอดส่องและรายงานการทำตามความตกลงของรัฐสมาชิก     (3) การจัดตั้งกลไกสำหรับการระงับข้อพิพาทต่าง ๆ ระหว่างประเทศสมาชิก     (4) การให้ผู้นำเป็น ผู้ตัดสินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณีตามกฎบัตรฯ อย่างร้ายแรง     (5) การเปิดช่องให้ใช้วิธีการอื่นในการตัดสินใจได้หากไม่มีฉันทามติ     (6) การส่งเสริมการปรึกษาหารือกันระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ร่วม     (7) การเพิ่มบทบาทของประธานอาเซียนเพื่อให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที     (8) การเปิดช่องทางให้อาเซียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรภาคประชาสังคมมากขึ้น และ     (9) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน 2 ครั้งต่อปี จัดตั้งคณะมนตรีเพื่อประสานความร่วมมือในแต่ละ 3 เสาหลัก และการมีคณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการประชุมของอาเซียน เป็นต้น
    กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 หลังจากที่ประเทศสมาชิกครบทั้ง 10 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันกฎบัตร และการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2552 ที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นการประชุมระดับผู้นำอาเซียนครั้งแรกหลังจากกฎบัตรมีผลบังคับใช้
 ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)
            ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือ 3 เสาหลัก คือ 
        ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community–APSC)
        ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community–AEC)

         ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community–ASCC)
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

(ASEAN Political and Security Community – APSC)

           มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสามารถแก้ไขปัญหาและความขัดแย้ง โดยสันติวิธี อาเซียนจึงได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Blueprint) โดยเน้นใน 3 ประการ คือ
          1) การมีกฎเกณฑ์และค่านิยมร่วมกัน ครอบคลุมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะร่วมกันทำเพื่อสร้างความเข้าใจในระบบสังคมวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างของประเทศสมาชิก ส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หลักการประชาธิปไตย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การต่อต้านการทจริต การส่งเสริมหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล เป็นต้น
          2) ส่งเสริมความสงบสุขและรับผิดชอบร่วมกันในการรักษาความมั่นคงสำหรับประชาชนที่ครอบคลุมในทุกด้านครอบคลุมความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในรูปแบบเดิม มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการระงับข้อพิพาท โดยสันติเพื่อป้องกันสงครามและให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ด้วยกัน โดยสงบสุขและไม่มีความหวาดระแวง และขยายความร่วมมือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและจัดการภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ
          3) การมีพลวัตและปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพื่อเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น กรอบอาเซียน+3 กับจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับมิตรประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ
2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
(ASEAN Political-Security Community-AEC)
          มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตเดียวกันและมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน  เงินทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี อาเซียนได้จัดทำแผนงาน การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint) ซึ่งเป็นแผนงานบูรณาการการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 4 ด้าน คือ
         1) การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว (single market and production base) โดยจะมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น
         2) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับประเด็นนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลังงาน)
         3) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค ให้มีการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการต่าง ๆ
         4) การบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เน้นการปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาคเพื่อให้อาเซียนมีท่าทีร่วมกันอย่างชัดเจน
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน 
(ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC)

          อาเซียนได้ตั้งเป้าเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี 2558 โดยมุ่งหวังเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity)
เพื่อรองรับการเป็นประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน โดยได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint)ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือใน 6 ด้าน ได้แก่
      1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
      2) การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม
      3) สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม
      4) ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
      5) การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
      6) การลดช่องว่างทางการพัฒนา

     ทั้งนี้โดยมีกลไกการดำเนินงาน ได้แก่ การประชุมรายสาขาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับรัฐมนตรีและคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
สาระสำคัญของปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือ
          ด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปันปฏิญญาชะอำ-หัวหินว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน  เน้นย้ำถึงบทบาทของการศึกษาในการสร้างประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558 อันประกอบด้วย 3 เสาหลัก ดังนี้
1. บทบาทของภาคการศึกษาในเสาการเมืองและความมั่นคง
          สนับสนุนความเข้าใจและความตระหนักรับรู้เรื่องกฎบัตรอาเซียนให้มากขึ้นโดยผ่านหลักสูตรอาเซียน ในโรงเรียนและเผยแพร่กฎบัตรอาเซียนที่แปลเป็นภาษาต่างๆ ของชาติ ในอาเซียนให้เน้นในหลักการแห่งประชาธิปไตยให้มากขึ้น เคารพในสิทธิมนุษยชนและค่านิยมในเรื่องแนวทางที่สันติภาพในหลักสูตรของโรงเรียนสนับสนุน ความเข้าใจและความตระหนักรับรู้ใน
ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อในภูมิภาคในหมู่อาจารย์ผ่านการฝึกอบรม โครงการแลกเปลี่ยน และการจัดตั้งข้อมูลพื้นฐานออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้จัดให้มีการประชุมผู้นำโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอในฐานะที่เป็นพื้นฐานสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อ
คิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคอาเซียนที่หลากหลาย การสร้างศักยภาพและเครือข่าย รวมทั้งยอมรับการดำรงอยู่ของเวทีโรงเรียน
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia School Principals’ Forum: SEA-SPF)
2. บทบาทของภาคการศึกษาในเสาเศรษฐกิจ

         พัฒนาพัฒนากรอบทักษะภายในประเทศของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อช่วยสนับสนุนการมุ่งไปสู่การจัดทำการยอมรับทักษะในอาเซียนสนับสนุนการขับเคลื่อนของนักเรียนนักศึกษาให้ดีขึ้นโดยการพัฒนาบัญชีรายการระดับภูมิภาคของอุปกรณ์สารนิเทศด้านการศึกษาที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดหาได้สนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือในภูมิภาคอาเซียน โดยผ่านกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับความพยายามในการปกป้องและปรับปรุงมาตรฐานทางด้านการศึกษาและวิชาชีพพัฒนามาตรฐานด้านอาชีพบนพื้นฐานของความสามารถในภูมิภาคอาเซียนโดยมุ่งไปที่การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโดยประสานกับกระบวนการกรอบการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงาน
3. บทบาทของภาคการศึกษาในเสาสังคมและวัฒนธรรม

         พัฒนาเนื้อหาสาระร่วมในเรื่องอาเซียนสำหรับโรงเรียนเพื่อใช้เป็นตัวอ้างอิงสำหรับการฝึกอบรมและการสอนของครูอาจารย์เสนอให้มีหลักสูตรปริญญาด้านศิลปวัฒนธรรมอาเซียนในมหาวิทยาลัยเสนอให้มีภาษาประจำชาติอาเซียน ให้เป็นภาษาต่างประเทศวิชาเลือกในโรงเรียนสนับสนุนโครงการระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นที่การส่งเสริมการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่เยาวชนรับรองการมีอยู่ของโครงการอื่นๆ เช่น การนำเที่ยวโรงเรียนอาเซียน โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาอาเซียน การประชุมเยาวชนอาเซียนด้านวัฒนธรรม การประชุมสุดยอดเยาวชนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอาเซียน การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน และการประกวดสุนทรพจน์ระดับเยาวชน สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตในประเทศสมาชิกอาเซียนโดยการสนับสนุนการศึกษาสำหรับ
ทุกคนจัดให้มีการประชุมวิจัยทางด้านการศึกษาอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคให้เป็นเวทีสำหรับนักวิจัยจากประเทศสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นและเรื่องที่เกี่ยวข้องของภูมิภาคสนับสนุนความเข้าใจและการตระหนักรับรู้ในประเด็นและเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียนโดยการบูรณาการให้อยู่ในหลักสูตรในโรงเรียน และการมอบรางวัล
โรงเรียนสีเขียวอาเซียนเฉลิมฉลองวันอาเซียน (วันที่ 8 สิงหาคม)ในโรงเรียนโดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การร้องเพลงชาติอาเซียน การจัดการแข่งขันเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาเซียนการจัดแสดงเครื่องหมาย และสัญลักษณ์อื่นๆ ของอาเซียน การจัดค่ายเยาวชนอาเซียน เทศกาลเยาวชนอาเซียนและวันเด็กอาเซียนเห็นชอบที่จะเสนอในรัฐสมาชิกอาเซียน
แบ่งปันทรัพยากรแก่กัน และพิจารณาการจัดตั้งกองทุนพัฒนาด้านการศึกษาของภูมิภาคเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอในการปฏิบัติการต่าง ๆได้ตามที่ได้รับการเสนอแนะมามอบหมายให้ องค์กรระดับรัฐมนตรีรายสาขาของอาเซียนเกี่ยวข้องและเลขาธิการอาเซียนดำเนินการปฏิบัติตามปฏิญญานี้โดยการให้แนวทางและสนับสนุนแผน 5 ปีของอาเซียนว่าด้วยเรื่องการศึกษา
         รวมทั้งข้อตกลงในการควบคุมดูแลที่ได้รับการสนับสนุนโดยคณะกรรมการผู้แทนถาวรและรายงานต่อที่ประชุม สุดยอดอาเซียนเป็นประจำผ่านคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนทราบผลการคืบหน้าของการดำเนินการปฏิญาณว่าความมุ่งมั่นและข้อผูกพันของผู้นำอาเซียนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาเพื่อให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีการเคลื่อนไหวประชาคมที่มีความเชื่อมโยงกันและประชาคมของประชาชนอาเซียนและเพื่อประชาชนอาเซียน
นโยบายกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินการด้านการศึกษาตามปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน
           จากการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาในอาเซียนสู่การบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม 2553 ณ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน และผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ผู้อำนวยการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนและผู้แทนกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างนโยบายเพื่อดำเนินงานตามปฏิญญาชะอำ-หัวหินด้านการศึกษา จำนวน 5 นโยบาย ดังนี้
         นโยบายที่ 1 การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของครูคณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558         นโยบายที่ 2  การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวประชาคมอาเซียน เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญการที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม และการเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชน รวมทั้งการพิจารณาแผนผลิตกำลังคน         นโยบายที่ 3  การพัฒนามาตรฐานการศึกษาเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูอาจารย์ในอาเซียน รวมทั้งเพื่อให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และการแลกเปลี่ยนเยาวชน การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมและปรับปรุงการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมทางอาชีพ ทั้งในขั้นต้นและขั้นต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกของอาเซียน         นโยบายที่ 4  การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีการศึกษาในอาเซียนเพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับร่วมด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษาควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน
         นโยบายที่ 5  การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

 ประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Member States)

flag-brunei-darussalam
เนการาบรูไนดารุสซาลาม : Negara Brunei Darussalam
การปกครอง : สมบูรณาญาสิทธิราชย์
ประมุข : สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาเลาะห์
เมืองหลวง : บันดาร์เสรีเบกาวัน
ภาษาราชการ : ภาษามาเลย์, ภาษาอาหรับ
หน่วยเงินตรา : บรูไนดอลลาร์
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.mofat.gov.bn

flag-cambodia
ราชอาณาจักรกัมพูชา : Kingom of Cambodia
การปกครอง : ระบอบประชาธิปไตย
ประมุข : พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี
เมืองหลวง : กรุงพนมเปญ
ภาษาราชการ : ภาษาเขมร
หน่วยเงินตรา : เรียล
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.mfaic.gov.kh

flag-indonesia
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย : Republic of Indonesia
การปกครอง : ระบอบสาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย
ประมุข : พลโทซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน
เมืองหลวง : กรุงจาการ์ตา
ภาษาราชการ : ภาษาบาร์ฮาซา, ภาษาอินโดนีเซีย
หน่วยเงินตรา : รูเปียห์
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.kemlu.go.id

flag-lao_pdr
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว : The Loa People's Democratic Republic
การปกครอง : ระบอบสังคมนิยม
ประมุข : พลโทจูมมะลี ไซยะสอน
เมืองหลวง : นครหลวงเวียงจันทน์
ภาษาราชการ : ภาษาลาว
หน่วยเงินตรา : กีบ
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.mofa.gov.la

flag-malaysia
มาเลเซีย : Malaysia
การปกครอง : สหพันธรัฐ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นประมุข
ประมุข : สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านตวนกู อับดุล ฮาลิม มูอัซซอม ซาร์
เมืองหลวง : กรุงกัวลาลัมเปอร์
ภาษาราชการ : ภาษามาเลย์
หน่วยเงินตรา : ริงกิต
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.kln.gov.my


flag-myanmar
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ : Republic of the Union of the Myanmar
การปกครอง : ระบบประธานาธิบดี
ประมุข : พลเอกเต็ง เส่ง
เมืองหลวง : นครเนปิดอร์
ภาษาราชการ : ภาษาพม่า
หน่วยเงินตรา : จั๊ต
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.mofa.gov.mm

flag-philippines
สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ : Republic of the Philippine
การปกครอง : สาธารณรัฐเดี่ยวระบบประธานาธิบดี
ประมุข : เบนิกโน อากีโน ที่ 3
เมืองหลวง : กรุงมะลิลา
ภาษาราชการ : ภาษาตากาล๊อก, ภาษาอังกฤษ
หน่วยเงินตรา : เปโซ
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.dfa.gov.ph

flag_singapore
สาธารณรัฐสิงคโปร์ : Republic of Singapore
การปกครอง : ระบบสาธารณรัฐแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
ประมุข : โทนี ตัน เค็ง ยัม
เมืองหลวง : สิงคโปร์
ภาษาราชการ : ภาษาอังกฤษ, ภาษาจีนกลาง, ภาษามาเลย์, ภาษาทมิฬ
หน่วยเงินตรา : ดอลล่าร์สิงคโปร์
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.mfa.gov.sg

flag-thailand
ราชอาณาจักรไทย : Kingdom of Thailand
การปกครอง : ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ประมุข : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมืองหลวง : กรุงเทพมหานคร
ภาษาราชการ : ภาษาไทย
หน่วยเงินตรา : บาท
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.mfa.go.th

flag-vietnam
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม : Socialist Republic of Vietnam
การปกครอง : ระบอบสังคมนิยมเวียดนาม
ประมุข : เจือง เติ๋น ซาง
เมืองหลวง : กรุงฮานอย
ภาษาราชการ : ภาษาเวียดนาม
หน่วยเงินตรา : ด่อง
เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ : www.mofa.gov.vn
  

ถาม-ตอบ เกี่ยวกับอาเซียน
ASEAN ย่อมาจากอะไร
- Association of Southeast Asian Nations หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อาเซียนเริ่มก่อตั้งครั้งแรกประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมดกี่ประเทศ ประเทศใดบ้าง
- 5  ประเทศ  ได้แก่  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย ฟิลิปปินส์  สิงคโปร์ และไทย
 ปัจจุบันอาเซียน ประกอบด้วยประเทศใดบ้าง
- กัมพูชา ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า ลาว
อาเซียน+3 ประกอบด้วยประเทศใดบ้าง
- กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศ จีน เกาหลีใต้ และ ญี่ปุ่น
อาเซียน+6 ประกอบด้วยประเทศใดบ้าง
- กลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ กลุ่มประเทศ+3 และประเทศออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์
คำขวัญอาเซียน มีว่าอย่างไร
- หนึ่งวิสัยทัศน์, หนึ่งอัตลักษณ์, หนึ่งประชาคม (One Vision, One Identity, One Community)
ใครคือเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน
- ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ
สัญลักษณ์อาเซียนสื่อความหมายใดบ้าง
asean_564
รูปรวงข้าวสีเหลืองบนพื้นสีแดงล้อมรอบด้วยวงกลมวีขาวและสีน้ำเงินรวงข้าว 10 ต้น มัดรวมกันไว้ หมายถึง ประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน

สีน้ำเงิน  หมายถึง   สันติภาพและความมั่นคง
สีแดง     หมายถึง   ความกล้าหาญ และความก้าวหน้า
สีขาว      หมายถึง   ความบริสุทธิ์
สีเหลือง  หมายถึง   ความเจริญรุ่งเรือง
3 เสาหลักของประชาคมอาเซียน ประกอบด้วยความร่วมมือด้านใดบ้าง
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
สำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) ตั้งอยู่ที่ใด
- กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
อาเซียนตั้งเป้าหมายที่บรรลุประชาคมอาเซียนโดยสมบูรณ์ในปีใด
- ปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015)
กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
- กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) คือ ธรรมนูญอาเซียนที่จะมีการวางกรอบของกฎหมายและโครงสร้างองค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการขับเคลื่อนเพื่อการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 (พ.ศ.2558) เพื่อให้อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและเคารพในกติกาการทำงานระหว่างกันมากยิ่งขึ้น